โรคแพนิค อาการ สาเหตุ วิธีรักษา (Panic disorder)
โรคแพนิก หรือชื่อเรียกภาษาไทยว่า "โรคตื่นตระหนก" เป็นโรคชนิดหนึ่งในกลุ่มของโรควิตกกังวล (Anxiety disorder) โดย โรคนี้พบได้ 3% ของประชากร และ พบมากในเพศหญิงมากกว่าเพศชาย โรคนี้มีความสำคัญ ถ้าไม่รักษาอาการของโรคนี้จะทำให้เกิดความเครียด ผู้ป่วยจะกังวลเสมอว่าตนเองเป็นโรคร้ายแรง ส่งผลเสียต่อการดำเนินชีวิต ความสัมพันธ์กับคนรอบข้าง และการทำงานได้
อาการของโรคแพนิค
ผู้ป่วยจะมีอาการตื่นตระหนกหรือรู้สึกกลัวอย่างฉับพลัน ร่วมกับมีอาการทางกาย โดยจะมีอาการดังที่จะกล่าวต่อไปนี้ 4 อาการขึ้นไปได้แก่
- รู้สึกใจสั่น หัวใจเต้นเร็ว
- เหงื่อแตก
- ตัวสั่น
- รู้สึกหายใจติดขัด หายใจลำบาก
- ทรงตัวลำบาก รู้สึกว่าพื้นโคลงเคลง
- เจ็บหน้าอก แน่นหน้าอก
- คลื่นใส้อาเจียน เวียนศีรษะ ปวดท้อง มวนท้อง
- เวียนศีรษะ เหมือนจะเป็นลม
- ร้อนวูบวาบหรือหนาวสั่น
- รู้สึกหน็บชาตามร่างกาย บางรายรู้สึกซ่าๆตามตัว
- รู้สึกเหมือนหลุดออกไปจากโลกแห่งความเป็นจริง อยู่ในความฝัน การรับรู้ผิดปกติ
- มีความกลัว รู้สึกเหมือนตนเองกำลังจะบ้า
- รู้สึกเหมือนกำลังจะตาย
โดยที่อาการที่เกิดขึ้นเหล่านี้จะเกิดขึ้นนานประมาณ ภายใน 3-15 นาที และอาการจะคงอยู่ได้นานเป็นชั่วโมง อาการมักคล้ายกับโรคหัวใจหรือหรือเส้นเลือดในสมองตีบแตกตัน โรคไทรอยด์เป็นพิษ ดังนั้นผู้ป่วยที่มีอาการเหล่านี้ควรนำส่งห้องฉุกเฉินเพื่อตรวจประเมินโรคที่เป็นอันตรายถึงแก่ชีวิตเหล่านี้ก่อนเป็นอันดับแรก เมื่อไม่มีการอาการที่อันตรายได้กล่าวแล้วจึงส่งพบจิตแพทย์ โรคแพนิค ถ้าไม่รักษาบางครั้งอาจน้ำไปสู่โรค agoraphobia ซึ่งก็คือโรคความกลัวรุนแรงเวลาอยู่นอกสถานที่หรือในสถานที่แคบ
สาเหตุของโรคแพนิก
ปัจจุบันยังไม่ทราบแน่ชัด แต่มีปัจจัยที่สัมพันธ์กัน 3 ปัจจัยโดยสาเหตุสามารถเกิดจากปัจจัยข้อใดข้อหนึ่งหรือหลายๆข้อรวมกันได้ ได้แก่
- เหตุจู่โจมให้เกิดโรคครั้งแรก ได้แก่ ความเครียดรุนแรง การใช้ยาเสพติด ยา โรคภัยไข้เจ็บบางโรค พบว่าอาการแพนิคยังคงอยู่ต่อไปได้ แม้ว่าจะรักษาต้นเหตุเหล่านี้หายแล้วก็ตาม
- พันธุกรรมและการเลี้ยงดู
- เซลล์สมองและสารเคมีในสมองผิดปกติ อาจจำให้ตอบสนองต่อความกลัวมากเกินไป
การวินิจฉัยโรคแพนิค
ปัจจุบันยังไม่มีตรวจการวินิจฉัยทางห้องปฏิบัติการที่สำคัญเกี่ยวกับโรคนี้ การวินิจฉัยจะอาศัยการซักประวัติและการตรวจร่างกายเป็นหลัก มีตรวจทางห้องปฏิบัติการเพื่อตัดโรคที่อาการคล้ายกันและรุนแรงออกไป ส่วนใหญ่อาการของโรคแพนิคมักจะเกิดขึ้นซ้ำๆกันมากกว่า 2 ครั้งขึ้นไป
การรักษาโรคแพนิค
การรักษาหลักส่วนใหญ่จะเป็นการใช้ยาและการทำพฤติกรรมบำบัดร่วมกัน โดยปัจจุบันพบว่าการรักษาด้วยยานั้นรักษาหายได้มากถึง 80% โดยอาการจะดีขึ้นเมื่อรับประทานยาไป 1-2 เดือน และรับประทานยาต่อเนื่องนาน 6 เดือนจึงค่อยๆลดยาลง ไม่ควรหยุดยากระทันหันเพราะมีโอกาสทำให้เกิดโรคซ้ำและเป็นรุนแรงกว่าเดิม
ผู้ป่วยและผู้ใกล้ชิดควรปฎิบัติตัวอย่างไรระหว่างทำการรักษาโรคแพนิก
- ควรทำความเข้าใจกับตัวโรค พยายามมีสติและบอกตัวเองว่า โรคนี้ไม่อันตรายและรักษาหาย
- ญาติและผู้ใกล้ชิดไม่ควรแสดงท่าทางรำคาญหรือรังเกียจซึ่งจะเป็นการเพิ่มความเครียดกับผู้ป่วยซึ่งจะทำให้อาการของโรคแย่ลง
- หลีกเลี่ยงเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ หรือสารเสพติดทุกชนิด เพราะจะทำให้อาการของโรคแย่ลง
- งดเครื่องดื่มที่มีคาเฟอีน เพราะจะทำให้ผู้ป่วยตื่นตัวง่าย
- ผู้ป่วยโรคแพนิคส่วนใหญ่มักมีโรคซึมเศร้าแอบแฝงอยู่ ดังนั้นควรมีการบำบัดความเครียด ฝึกกิจกรรมการผ่อนคลายความเครียด เช่นโยคะ นั่งสมาธิ ฝึกการหายใจช้าๆ
- ออกกำลังกายสม่ำเสมอ เพื่อให้สารแห่งความสุขหลั่งออกมา
- เมื่อรักษาด้วยยาจนดีขึ้นควรลองออกไปทำกิจกรรม หรือเผชิญสิ่งที่เคยหวาดกลัวที่ละเล็กน้อย
- ไปพบแพทย์ตามนัดและรับประทานยาตามที่แพทย์สั่งอย่างสม่ำเสมอ