โรคกรดไหลย้อน อาการ วิธีการรักษา สาเหตุ
โรคกรดไหลย้อน โดยส่วนใหญ่มักเริ่มต้นจากโรคกระเพาะอาหารอักเสบ (gastritis) ต่อมาเกิดการไหลย้อนของกรดในกระเพาะขึ้นมาบนหลอดอาหารส่วนต้น ในรายที่เป็นรุนแรงอาจย้อนขึ้นมาถึงบริเวณคอหอยได้

กรดไหลย้อน (Gastroesophageal reflux disease: GERD) เดี๋ยวนี้ใครๆก็เป็นโรคนี้กันมากมาย เรามาทำความรู้จักกันว่า โรคกรดไหลย้อนคืออะไรและเราจะรับมือกับโรคนี้ยังไงกันดีกว่า
โรคกรดไหลย้อน โดยส่วนใหญ่มักเริ่มต้นจากโรคกระเพาะอาหารอักเสบ (gastritis) ต่อมาเกิดการไหลย้อนของกรดในกระเพาะขึ้นมาบนหลอดอาหารส่วนต้น ในรายที่เป็นรุนแรงอาจย้อนขึ้นมาถึงบริเวณคอหอยได้

กลไกการเกิดโรคกรดไหลย้อน
โดยปกติแล้วในกระเพาะอาหารของเราจะหลั่งกรดออกมาซึ่งมี pH ประมาณ 1.5-3 ซึ่งมีความเป็นกรดสูงมาก โดยปกติผนังกระเพาะอาหารของเราแข็งแรงพอที่จะรองรับความเป็นกรดนี้ได้ในระยะเวลาและปริมาณหนึ่ง ถ้าปล่อยนานกว่านี้โดยไม่รับประทานอาหารเข้าไป กรดในกระเพาะอาหารจะหลั่งมากขึ้น
กรดจะกัดผนังกระเพาะอาหารจนเกิดแผล (Gastric ulcer,gastritis) เราจะเริ่มรู้สึกแสบท้อง จุกท้องบริเวณลิ้นปี่ พอปล่อยให้เกิดบ่อยครั้ง ระยะเวลาในการทนกรดของกระเพาะอาหารจะน้อยลง จนแค่รู้สึกหิวเล็กน้อยหรือถึงเวลาอาหารก็แสบบริเวณกระเพาะอาหารมากแล้ว ทำให้เกิดโรคกระเพาะอาหารอักเสบตามมา โดยปัจจัยที่ทำให้ความเป็นกรดในกระเพาะอาหารเพิ่มมากขึ้นไม่ได้มีเพียงแต่การรับประทานอาการไม่เป็นเวลาเท่านั้น ยังมีปัจจัยอื่นได้แก่
- ความเครียด ความวิตกกังวล
- เชื้อโรค Helicobacter pylori
- ยาแก้ปวดบางชนิด
- คาเฟอีน
- แอลกอฮอล์
- น้ำอัดลม
- อาหารที่มีความเป็นกรดสูง เช่น เปรี้ยวมากเผ็ดมาก
- การสูบบุหรี่
นอกจากนี้การที่กรดในกระเพาะมีมากขึ้นก็จะทำให้เกิดลมมากขึ้น ผู้ป่วยโรคกระเพาะอาหารอักเสบจึงมีอาการอืดแน่นท้อง ลมตีขึ้น เรอเปรี้ยวร่วมด้วยได้ นอกจากนี้โรคกระเพาะอาจมีอาการรุนแรงมากถึงขั้นมีเลือดออกในกระเพาะอาหาร หรือกระเพาะอาหารทะลุจนถึงเสียชีวิตได้

สาเหตุของโรคกรดไหลย้อน
พอทราบกลไกของโรคกระเพาะอาหารอักเสบแล้ว มาถึงสาเหตุของโรคกรดไหลย้อนกันต่อ
โดยปกติเวลาเรากลืนอาหารกล้ามเนื้อหูรูดรอบหลอดอาหารส่วนล่าง (lower esophageal sphincter) จะคลายตัวเพื่อรับอาหารเข้าสู่กระเพาะอาหาร เมื่อกลืนเสร็จกล้ามเนื้อนั้นก็หดตัวเพื่อปิดเพื่อไม่ให้อาหารไหลย้อนขึ้นมา
ถ้ากล้ามเนื้อรอบหลอดอาหารส่วนล่างมีปัญหา อ่อนแรง ไม่สามารถหดตัวได้เต็มที่ ทำให้กรดในกระเพาะอาหารไหลย้อนขึ้นมากัดกร่อนหลอดอาหาร และไหลย้อนขึ้นมากัดถึงบริเวณคอหอยทำให้รู้สึกแสบคอได้
ปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้เกิดโรคไหลย้อน หรือ กล้ามเนื้อรอบหลอดอาหารส่วนล่างผิดปกติ ได้แก่
- โรคกระเพาะอาหารอักเสบ หลั่งกรดปริมาณมาก ลมแน่นมาก
- ภาวะอ้วน
- โรคกระเพาะอาหารยื่นเข้าไปในกระบังลม (hiatal hernia)
- เข้านอนหลังรับประทานอาหารทันที
- ภาวะตั้งครรภ์
- การกินอาหารปริมาณมากเกินไปใน 1 มื้อ
- รับประทานอาหารที่กระตุ้นการหลั่งกรดในกระเพาะอาหาร
- การป่วยเป็นโรคบางชนิด เช่น โรคหนังแข็ง
จากสาเหตุและปัจจัยเสี่ยง ดังกล่าวนำไปสู่อาการแสดงของโรคกรดไหลย้อนดังนี้
- รู้สึกแสบร้อนกลางอก (heartburn) มักเป็นหลังจากรับประทานอาหาร มักอาหารแย่ลงช่วงกลางคืน
- เจ็บแน่นหน้าอก
- กลืนลำบาก
- รู้สึกว่ามีอาหารหรือน้ำขย้อนขึ้นมาที่คอ
- รู้สึกเหมือนมีก้อนที่คอ
- ในช่วงกลางที่เราอยู่ในท่านอน เวลากรดไหลย้อนขึ้นมาอาจจะทำให้มีอาการไอเรื้อรัง แสบคอ คอหอยอักเสบได้
หากอาการเหล่านี้เป็นบ่อยจนรบกวนชีวิตประจำวัน แนะนำให้พบแพทย์เพื่อทำการรักษา โดยแพทย์จะรักษาโดยการซักประวัติและการตรวจร่างกายเป็นหลัก หากอาการไม่แน่ชัดหรือไม่ตอบสนองการรักษาอาจจะต้องมีการตรวจเพิ่มเติมเช่นส่องกล้องทางเดินอาหาร รวมถึงการตัดชิ้นเนื้อไปตรวจ
การรักษาโรคกรดไหลย้อน
1. การใช้ยารักษาโรคกรดไหลย้อน
- ยาลดกรด มีทั้งแบบยาลดการหลั่งกรด และ ยาที่ทำให้ค่าความเป็นกรดในกระเพาะลดลง
- ยาลดการไหลย้อนของกรด หรือยากลุ่มลดการอาเจียน
- ยาเพิ่มการเคลื่อนตัวของระบบทางเดินอาหาร เพิ่มการบีบตัวของลำไส้
- ยาฆ่าเชื้อโรค helicobacter pylori ในกรณีที่ผู้ป่วยเป็นโรคกรดไหลย้อนร่วมกับโรคกระเพาะอาหารอักเสบที่ตรวจพบเชื้อนี้
2. การผ่าตัดซ่อมแซมกล้ามเนื้อหูรูดรอบๆหลอดอาหาร
3. การปรับการใช้ชีวิต อาหารการกินเพื่อรักษาโรคกรดไหลย้อน
- ลดความอ้วน
- ไม่ควรรับประทานอาหารแต่ละมื้อให้อิ่มหรือแน่นเกินไป
- ไม่รับประทานอาหาร หรือยาที่กระตุ้นการหลั่งกรดในกระเพาะอาหารดังที่กล่าวไปแล้ว
- ไม่นอนทันทีหลังรับประทานอาหาร ควรรอสัก 1-2 ชั่วโมง
- งดการทำกิจกรรมที่เพิ่มแรงดันในช่องท้องหลังรับประทานอาหาร เช่น การเบ่ง หรือยกของหนัก
- งดสูบบุหรี่ เนื่องจากการสูบบุหรี่ทำให้กล้ามเนื้อหูรูดรอบหลอดอาหารคลายตัว
- พยายามนอนยกหัวสูงกว่าหัวใจเสมอ
อย่างไรก็ตาม การรักษาโรคกรดไหลย้อนที่มีประสิทธิภาพควรทำทั้งการใช้ยา การปรับวิธีการรับประทานอาหาร และการใช้ชีวิตควบคู่กันไป
ภาวะแทรกซ้อนที่อาจเกิดขึ้นเมื่อปล่อยให้เป็นโรคกรดไหลย้อนเป็นเวลานาน
- หลอดอาหารตีบตัน เนื่องจากมีการระคายเคืองหลอดอาหารและเกิดผังผืดรอบๆหลอดอาหาร
- แผลเรื้อรังที่หลอดอาหาร
- อาการหอบหืด ไอเรื้อรัง
- มะเร็งหลอดอาหาร จากการเกิดแผลซ้ำๆ บ่อยๆทำให้เซลล์ที่สร้างใหม่เกิดการกลายพันธุ์ได้
ที่มา Webmd.com, Mayoclinic.com
รูปภาพ: https://en.wikipedia.org/wiki/File:GERD.png